" เงินตรา"
เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นเครื่องวัดมูลค่าของสิ่งของและการบริการ
บริเวณอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้พบเงินตราโบราณที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ยุคฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6) ยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11) ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13) และยุคลพบุรี (พุทธศตวรรษที่12) เมื่ออาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการผลิตเงินตราพดด้วงขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับเงินพดด้วงนั้นถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางเงินตราของไทย เนื่องจากมีรูปร่างไม่เหมือนเงินตราสกุลอื่นใดในโลก
นอกจากเงินพดด้วงยังมีเงินชนิดอื่น ได้แก่ "เบี้ย" ซึ่งเป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาจากหมู่เกาะมัลดีฟ และได้ใช้เป็นเงินตราในช่วงเดียวกับที่มีการใช้เงิน พดด้วง คือตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น การใช้เงินพดด้วงซึ่งผลิตด้วยมือไม่คล่องตัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานผลิตเงินเหรียญแบบต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยใช้เครื่องจักรจากประเทศอังกฤษเพื่อใช้แทนการใช้เงินพดด้วง และยังใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยสุโขทัย ได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในระยะแรกเงินพดด้วงมีขนาด และรูปร่างไม่ได้มาตราฐาน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุเงินและปรับปรุงน้ำหนักให้เป็น มาตราฐานเดียวกัน มาตราเงินใช้ ตำลึง บาท สลึง ส่วนตราที่ประทับได้แก่ ตราช้าง ตราสังข์ ตราราชสีห์ และตราราชวัตร นอกจากเงินพดด้วงยังมีการใช้เบี้ยเป็นเงินตราเบี้ยมีอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยหมู เบี้ยจั่น เบี้ยนาง เบี้ยบัว เบี้ยพองลม และเบี้ยตุ้ม ซึ่งเบี้ยจั่นเป็นเบี้ยที่นิยมใช้กันมากที่สุด
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ. 2325 - 2342
ในรัชสมัยนี้ ยังคงใช้เงินพดด้วงซึ่งมีลักษณะคล้ายกับของสมัยอยุธยาตอนปลาย ตราที่ประทับ ใช้ตราจักร 8 กลีบเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลเป็นตราบัวผัน (มหาอุณาโลม)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พ.ศ.2342 - 2367
ลักษณะของเงินพดด้วงในรัชกาลนี้คล้ายกับสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เปลี่ยนตราประจำแผ่นดินเป็นรูปจักร 6 กลีบ และตราประจำรัชกาลเป็นตราครุฑ ซึ่งมี 2 แบบคือ ครุฑอกสั้นและครุฑอกยาว
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พ.ศ.2367 - 2394
เงินพดด้วงในรัชสมัยนี้ ใช้ตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลคือตราปราสาท นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯให้ผลิตพดด้วงที่ระลึกขึ้นหลายตรา ทั้งชนิดที่ทำด้วยทองคำและเงิน ประทับ ตราต่างๆ อาทิ ตราใบมะตูม ตราดอกไม้ ตราหัวลูกศร ตรารวงผึ้ง ตราเฉลว และตราครุฑเสี้ยว ซึ่งโปรด เกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพี่อเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2368
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2367 - 2411
ในช่วงต้นรัชกาล ได้มีการผลิตพดด้วงที่ใช้ตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลเป็นตรา พระมหามงกุฎ นอกจากนั้นยังได้มีการผลิตพดด้วงตราพระเต้าและตราพระมหามงกุฏเถาทำด้วยเงินและ ทองคำเป็นเงินตราที่ระลึก ในช่วงปลายรัชกาล ได้ทรงริเริ่มเปลี่ยนรูปแบบเงินตราเป็นเหรียญแบน และ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นครั้งแรก ที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ และพระราชทาน นามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ".
เงินตราร่วมสมัย หมายถึงเงินตราที่อาณาจักรล้านนาและล้านช้างผลิตขึ้นใช้ในสมัยเดียวกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตอนต้น
เงินตราอาณาจักรล้านนา
อาณาจักรล้านนาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นอาณาจักรที่พญามังรายทรงสถาปนาขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และอยู่ต่อ มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 มีระบบเงินตราเป็นของตนเอง ประกอบด้วยเงินมูลค่าต่ำเรียกว่า "เงินท้อก" ซึ่งได้แก่เงินใบไม้ เงินวงตีนม้า เงินปากหมู ส่วนเงินที่มีค่าสูงได้แก่ เงินผักชีและเงินเจียง นอกจากนี้ยังมีการใช้เงินไซซีของจีนในการค้าตามชายแดนอีกด้วย
เงินท้อก
เป็นเงินตระกูลหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มีทั้งที่เป็นโลหะสำริดและที่มีเนื้อเงินผสมเจืออยู่ในอัตราส่วนต่างๆกันเงินท้อกมีหลายชนิดได้แก่ เงินใบไม้ เงินท้อกน่าน เงินหอยโข่ง เงินปากหมู เป็นต้น
เงินท้อกเชียงใหม่
เงินท้อกเชียงใหม่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เงินหอย" ทำด้วยโลหะผสม แต่มี เนื้อเงินมากกว่าเงินท้อกชนิดอื่น มีลักษณะคล้ายหอยตลับทั้งตัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 - 47 มม. ด้านบนนูนสูงเล็กน้อย มีสีดำพื้นผิวย่นเป็นริ้ว ร่องละเอียด อีกด้าน หนึ่งแบนราบ
เงินปากหมู
เงินปากหมู เป็นเงินท้อกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะผสมมีลักษณะคล้ายหอยโข่ง ด้านล่างมีเนื้อเงินปิดรูโพรงไว้แต่ปิดไม่หมดยังคงเหลือเนื้อที่เป็นรูโพรงไว้ จึงมี ลักษณะคล้ายปากหมู
เงินดอกไม้
เงินดอกไม้หรือเงินผักชี เป็นเงินตราทำด้วยโลหะเงินผสม แต่มีส่วนผสม เป็นโลหะเงินมากกว่าโลหะชนิดอื่น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 - 100 ม.ม. มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะคล้ายเปลือกหอย ส่วนอีกชนิดหนึ่งเรียบแบน
เงินเจียง
เงินเจียงหรือเงินกำไลเป็นเงินตราของอาณาจักรล้านนาที่คิดขึ้นทำเป็นรูปคล้ายๆ เกือกม้าสองวงปลายต่อกัน บริเวณที่ต่อกันตอกสิ่วจนคอดกิ่วเกือบขาด จากกัน เพื่อให้หักออกได้ง่ายเมื่อต้องการทอนเงิน
เงินไซซี
มีเนื้อเงินที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก มักจะมีตราอักษรภาษาจีนตอกประทับบน ด้านหน้าและด้านข้าง บอกชื่อเมืองที่ผลิต วัตถุประสงค์ของการใช้เงินนี้ เช่น ภาษีชา ภาษีเกลือ เป็นต้น
เงินตราอาณาจักรล้านช้าง
ภายหลังจากที่อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง ดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้รวมตัวกันเป็นประเทศล้านช้างได้ตั้งเมืองหลวงและขยาย อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และมีระบบเงินตราร่วมกันโดยใช้เงินฮ้อยเงินลาด และเงินลาดฮ้อย นอกจากนั้นยังมีเงินฮาง และเงินตู้ จากประเทศอันนัมเข้ามาใช้ตามชายแดนด้วยเช่นกัน
เงินฮ้อย
เป็นเงินตราที่มีส่วนผสมระหว่างโลหะเงินเจือด้วยทองแดงเล็กน้อย มีรูปร่างคล้ายเรือชะล่า หรือกระสวยทอผ้า หัวท้ายเรียว มีตุ่มทั่วไปเป็นท้องบุ้ง ที่เรียกว่า "เงินฮ้อย" นั้น เป็นคำที่ใช้เรียกตาชั่งของชาวศรีสัตนาคนหุต
เงินลาด
ทำด้วยเนื้อโลหะทองลงหินเคลือบผิวสีเงิน มีรูปร่างคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียว เล็กกว่า มี 3 ขนาดคือ ใหญ่ กลาง เล็ก มีตราประทับ 3 ดวง ตรงกลางเป็นรูปจักร ช้างหรือดอกไม้ เป็นต้น
เงินลาดฮ้อย
เป็นเงินลาดชนิดหนึ่งที่หล่อด้วยทองแดงหรือทองเหลืองซึ่งมีลักษณะ เหมือนเรือชะล่าหรือเรือขุดขนาดต่างๆกัน ไม่มีตราประทับหรือลวดลายใดๆเงินลาดฮ้อยเป็นเงินที่มีมูลค่าต่ำสุดในท้องตลาด
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ